เครือข่ายคนไทยพลัดถิ่นจังหวัดระนอง
เป็นคนไทยที่ไร้สัญชาติ ในจังหวัดระนอง คนกลุ่มนี้สัญชาติไทยพร่ามัว เนื่องจากบรรพบุรุษ ตกอยู่ในเขต มะริด ทะวาย ฯลฯ ของประเทศพม่าในปัจจุบัน ซึ่งเดิมเคยเป็นดินแดนของประเทศไทย คนเหล่านี้ย้ายเข้ามาอาศัยในประเทศไทย นานกว่า 20 - 40 ปี แต่รัฐไทยไม่ได้ให้บัตรประชาชน มีจำนวนกว่า 20,000 คน ทั้งนับถือศาสนาพุทธ และศาสนาอิสลาม อาศัยสร้างบ้านในที่ดินว่างอยู่ตามชุมชนต่างๆ สภาพความเป็นอยู่ลำบาก ไม่มีสิทธิขั้นพื้นฐานใดๆ เข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล ไม่มีสิทธิเดินทางออกนอกพื้นที่ คนกลุ่มนี้มักถูกเอาเปรียบ ถูกโกงค่าแรงหรือโกงทรัพย์สินอื่นๆเพราะไม่สามารถซื้อในนามตนเองได้ ในขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเรื่องขึ้นทะเบียนสถานะเป็นไปด้วยความล่าช้าและมีการทุจริตคอรัปชั่น
ปี 2545 กลุ่มคนไทยพลัดถิ่นรวมตัวกันเป็นเครือข่าย มีการทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การออมทรัพย์ การสำรวจข้อมูล การเผยแพร่ปัญหาสู่สาธารณะ มีสมาชิกเครือข่าย 30 กลุ่มชุมชนใน 10 อำเภอ จำนวน 5,197 คน
และจากการศึกษาวิจัยร่วมกับนักวิชาการพบว่ากฎหมายสัญชาติที่มีอยู่ไม่สามารถคืนสัญชาติให้คนไทยพลัดถิ่นได้ ดังนั้นการแก้ปัญหาจึงต้องออกกฎหมายคืนสัญชาติไทย และตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ร่วมกันเสนอกฎหมายสัญชาติว่าด้วยการคืนสัญชาติไทยให้คนไทยพลัดถิ่น ผ่านคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน และเมื่อ 14 มีนาคม 2555 พระราชบัญญัติสัญชาติ ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2555 ว่าด้วยการคืนสัญชาติไทยให้คนไทยพลัดถิ่น ผ่านการพิจารณาในสภาและประกาศใช้ในราชกิจา นุเบกษา เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2555 มีการตั้งคณะกรรมการรับรองการเป็นคนไทยพลัดถิ่น และออกกฎกระทรวงเพื่อคืนความเป็นคนไทย ขณะนี้อยู่ในขั้นเสนอการพิจารณา ปัจจุบันแม้จะยุ่งยากแต่เครือข่ายก็พยายามติดตาม ซึ่งตอนนี้ได้สัญชาติแล้วประมาณ 500 คน
การแก้ปัญหาเรื่องที่ดินที่อยู่อาศัย เครือข่ายได้กำหนดพื้นที่นำร่องในการแก้ปัญหาในจังหวัดระนอง คือ ชุมชนห้วยม่วง ยางคต ช้างแหก หินช้าง เกาะสินไห เกาะเหลา ไร่ใต้ ท่าเรือบางกล้วย เกาะตาครุฑ เป็นพื้นที่นำร่อง ได้ร่วมกับ p-move ในการเสนอโฉนดชุมชน เจ้าหน้าที่โฉนดชุมชนได้ลงตรวจสอบพื้นที่ เกาะสินไห ยางคต และบ้านลำเลียง แต่เนื่องจากปัจจัยในพื้นที่ของชุมชนที่มีทั้งคนไทยพลัดถิ่น และคนไทยปกติ ทำให้บางพื้นที่มีปัญหาต้องหยุดชะงักสำหรับการเสนอโฉนดชุมชนไว้ก่อน