สามชุก
สามชุก เป็นเมืองท่าที่เคยรุ่งเรืองในอดีต มีตลาดเก่าอายุนับร้อยปี เมื่อมีถนน แม่น้ำถูกลดความสำคัญ ชาวบ้านอยากให้ตลาดมีชีวิตชีวาเหมือนเดิม มีการตั้งคณะกรรมการพัฒนาตลาด เป็นเวลา 2-3 ปีมาแล้วแต่ยังไม่มีประสบการณ์ ในการทำงาน โครงการเมืองน่าอยู่ฯเข้าไปต่อยอด ด้วยการทำความเข้าใจโครงการฯ สนับสนุนให้ไปร่วมแลกเปลี่ยนดูงานการฟื้นฟูย่านเมืองเก่าที่บางลำพู และกระตุ้นให้เกิดการทำกิจกรรมแรก คือการทำความสะอาดตลาดร่วมกัน
หลังจากนั้นเกิดการตั้งคณะทำงานด้านต่างๆ ขึ้นมา 6 ชุด ขยายกิจกรรมอื่นๆอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดงานสงกรานต์และภาพเก่าเล่าขานตำนานสามชุก การทำพิพิธภัณฑ์ในตลาด ความพยายามในการฟื้นตลาดโดยการปรับปรุงตลาดเป็นศูนย์อาหาร การขายคูปองอาหารให้แก่ ธนาคาร นักธุรกิจ การจัดตั้งกองทุนอนุรักษ์ การนำเด็กนักเรียนเข้ามาเรียนในตลาด การตั้งชมรมการท่องเที่ยว การเปิดทัศนียภาพริมน้ำ การสำรวจข้อมูลคนจนในเมือง การเผยแพร่เรื่องราวของกิจกรรมผ่านวิทยุชุมชน ซึ่งก่อตั้งโดยเจ้าอาวาสวัดสาม เป็นต้น
การดำเนินงาน ทีมทำงานโครงการ ฯ ทำหน้าที่ในการ กระตุ้น ประสาน สนับสนุน และเชื่อมโยงให้เกิดการแลกเปลี่ยนทั้งในเมืองและระหว่างเมืองต่างๆ ในตอนต้น ส่วนการคิดค้นกิจกรรมต่างๆ และการลงมือปฏิบัติ เป็นกระบวนการของคนในเมืองนั้นๆ
ปัจจัยที่ทำให้ การดำเนินงานลุล่วงไปได้ด้วยดี เกิดการขยายกิจกรรมและกลุ่มคนกว้างขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง คือการที่ผู้นำในหน่วยงานท้องถิ่นมีวิสัยทัศน์ รับฟังความเห็น ชุมชนและภาคีต่างๆ ในท้องถิ่นได้มีโอกาสมาร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันเป็นเจ้าของงาน อย่างจริงจังและเท่าเทียม การเอาทุนทางสถาปัตยกรรมและภูมิปัญญาผู้อาวุโสที่มีคุณค่าออกมาขัดเกลา การมีพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนและการสร้างกิจกรรมร่วมเพื่อกระตุ้นให้เกิดการกระชับความผูกพันในท้องถิ่น จึงเป็นเสมือนพลังขับเคลื่อนที่สำคัญ ต่อการทำชุมชนและเมืองให้น่าอยู่โดยเอาคนเป็นแกนหลัก
บทความ : NGO สามชุก จากคุณพงษ์วิน ชัยวิรัตน์