เปิดศูนย์เรียนรู้รมณีย์จัดการทรัพย์แบ่งปันสุข "สถาบันการเรียนรู้ตำบลรมณีย์ จังหวัดพังงา"

นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา เป็นประธาน เปิดศูนย์เรียนรู้รมณีย์จัดการทรัพย์แบ่งปันสุข "
สถาบันการเรียนรู้ตำบลรมณีย์ จังหวัดพังงา" 

วันที่ 13 มกราคม 2566 นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา , นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด , สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน , สํานักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ , หัวหน้าส่วนราชการทุกหน่วย , ผู้จัดการ ธกส. , มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต , มูลนิธิชุมชนไท , ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น , ผู้นําท้องที่ , ประธานสภาองค์กรชุมชนตําบล เข้าร่วมงาน

นางกัลยา โสภารัตน์ ประธานสภาองค์กรชุมชนตําบลรมณีย์ กล่าวว่า “สมัชชาพังงาแห่งความสุขและสภาองค์กรชุมชนตําบล" เป็นเครื่องมือที่สําคัญ เป็นกระบวนการสร้างพื้นที่กลางร่วมกัน ทําให้เกิด กระบวนการเรียนรู้ร่วมและการทํางานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ ปี 2554 เป็นต้นมา ทําให้ตําบลรมณีย์ ใช้กระบวนการสมัชชาในการขับเคลื่อนพื้นที่ โดยค้นหาความทุกข์ของคนรมณีย์ พบว่า ราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ มีปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบ ปัญหาความความยากจน ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย ปัญหาเรื่องระบบการดูแลสุขภาพ และการดูแลกันในระบบสวัสดิการสังคม        

ทําให้ชาวรมณีย์รวมกลุ่มกันจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตําบลรมณีย์ จากการก่อตั้งถึงปัจจุบัน มีสมาชิกกว่า 1,500 คน ที่ดูแลสวัสดิการสังคม

  • การแก้หนี้สินนอกระบบทั้งตําบล
  • การจัดหาเครื่องมือทางการเกษตร
  • ยกระดับไปถึงการจัดซื้อรถมอเตอร์ไซร์ ให้สมาชิก เพื่อลดหนี้ ลดดอกเบี้ยให้สมาชิกได้
  • ตั้งกลุ่มยางก้นถ้วย เพื่อทําเป็นตลาดกลางยางก้นถ้วยที่ขายร่วมกัน ให้ได้ราคาเพิ่มจากท้องตลาดกว่ากิโลกรัมละ 3-5 บาท เพิ่มรายได้ให้สมาชิก 
  • จัดตั้งกลุ่มปุ๋ยทั้งทําปุ๋ยหมัก และจัดหาปุ๋ยให้สมาชิเพื่อลดรายจ่าย 
  • จัดตั้งกลุ่มแปรรูปอาหารเกษตรเพื่อเพิ่มรายได้ เช่น การทําขนมกล้วย กล้วยฉาบ จําหน่ายเพิ่มรายได้ให้สมาชิก
  • จัดตั้งกลุ่มทําผลิตภัณฑ์สบู่ล้างจานในครัวเรือนจากน้ำมันเหลือใช้ 

โดยกระบวนการทั้งหมดนี้ ใช้สภาองค์กรชุมชนตําบลรมณีย์ เป็นพื้นที่กลางในการขยับขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบัน”

จากการดําเนินการขององค์กรชุมชนตําบลรมณีย์ ได้จัดซื้อที่ดินและจัดตั้งศูนย์เรียนรู้องค์กรชุมชน ให้ สอดคล้องกับกิจกรรมที่ดําเนินการ ที่มีหน่วยงานองค์กร ภาคี ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หนุนช่วยมาอย่างต่อเนื่อง จึงจัดงานเปิด ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ “รมณีย์จัดการทรัพย์แบ่งปันสุข” เและระดมทุนในการปรับปรุงศูนย์และพัฒนาการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดการพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน

โดยมีวัตถุประสงค์

  1. เพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้ให้หน่วยงาน ภาคี องค์กรพัฒนาเอกชน ร่วมกับองค์กรชุมชน เพื่อยก ระดับการเรียนรู้ขององค์กรในพื้นที่และหน่วยงานภาคีในการขยายผลไปสู่การพัฒนาพังงาแ่งความสุข
  2. เพื่อสร้างความร่วมมือกับภาคีพัฒนาในพื้นที่ จังหวัด และหน่วยที่เกี่ยวข้อง ให้เกิดการเรียนรู้ร่วมใน การขับเคลื่อนการพัฒนสและขยายผลได้
  3. เพื่อการระดมทุนในการพัฒนาองค์กรชุมชและศูนย์การเรียนรู้องค์กรชุมชนตําบลรมณีย์ต่อไป

--------------
ทำไม..ต้นแบบต้องเป็นรมณีย์
หนี้สินของเกษตรกรคือปัญหาหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสนใจและพยายามแก้ไขมาอย่างยาวนาน  อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าสถานการณ์ดังกล่าวยังไม่อาจพัฒนาให้ดีขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลให้คนในชุมชนเกิดการรวมกลุ่มจัดตั้งกองทุนต่างๆ เพื่อหาช่องทางผสานความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชนเข้าด้วยกัน  อุปสรรคของกระบวนการปลดหนี้ผ่านการจัดตั้งกองทุนคือการขาดประสบการณ์ในการระดมคนเพื่อวางเป้าหมายอย่างมีส่วนร่วม ขาดองค์ความรู้ด้านบริหารจัดการทรัพยากรและองค์กรเพื่อสร้างความโปร่งใสเป็นธรรมอันเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างเสถียรภาพและอำนาจต่อรองกับกลไกการตลาด  การส่งต่อประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการลงมือปฏิบัติงานจริงของท้องถิ่นที่สามารถดำเนินงานแก้ปัญหาหนี้สินและสร้างระบบสวัสดิการประสบความสำเร็จจะเป็นช่องทางสร้างการเรียนรู้สู่ชุมชนอื่นต่อไป

คุณจะได้อะไร..?

  1. เรียนรู้เข้าใจแนวทางการจัดตั้งกองทุนในชุมชนเพื่อปลดหนี้และยกระดับคุณภาพชีวิตเพื่อให้เข้าใจกระบวนการบริหารจัดการกองทุนในชุมชน กองทุนต่างๆ ในชุมชน การทำปุ๋ยขี้ช้าง การจัดการแหล่งท่องเที่ยวชุมชน การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร(กล้วย)
  2. เรียนรู้เข้าใจกระบวนการการสร้างอำนาจการต่อรองและกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม การขายผลผลิตทางการเกษตร (ยางก้อนถ้วย, มังคุด)
  3. เรียนรู้ได้แลกเปลี่ยนมุมมองการนำองค์ความรู้และประสบการณ์ไปประยุกต์ใช้ในการจัดการทุนในชุมชนของตนเอง

---------------