ลดความเสี่ยงเดิมป้องกันความเสี่ยงใหม่สู่สังคมรู้เท่าทันภัยพิบัติ

เวทีรับฟังข้อคิดเห็นต่อแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยจังหวัดพังงา
ลดความเสี่ยงเดิมป้องกันความเสี่ยงใหม่สู่สังคมรู้เท่าทันภัยพิบัติ

14 มี.ค.2566 สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพังงา  จัดเวทีร่วมกับเครือข่ายภัยพิบัติจังหวัดพังงา มูลนิธิชุมชนไท โดยการสนับของ สสส. ดำเนินการจัดงานเปิดตัวแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพังงา พ.ศ.2564-2570 และมอบนโยบายในการขับเคลื่อนแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด พ.ศ.2564-2570 ไปสู่การปฏิบัติและเสวนาเวทีสาธารณะด้านการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย ด้วยแผน ปภ.จังหวัด

ปฎิบัติการ 4 รู้ ลดความเสียงภัยพิบัติได้
1. ”หน่วยงานต้องรู้” แผนทั้ง 2 ฉบับ คือแผนชาติและแผนจังหวัด ทุกหน่วยงานต้องนำไปศึกษาและจัดทำแผนปฎิบัติการของหน่วยงานตนเอง ตั้งแต่แผนป้องกันในหน่วยงาน แผนลดความเสี่ยงภายใน และแผนขั้นตอนในการจัดการป้องกันภัย บริหารจัดการในหน้าที่ตัวเองเมื่อเกิดภัยพิบัติ อย่างเข้าใจว่าเป็นหน้าที่ตัวเอง

2. ”อำเภอต้องรู้” อำเภอ ในฐานะผู้อำนวยการระดับอำเภอ ต้องอ่าน เข้าใจ และซักซ้อมกับหน่วยงาน เมื่อเกิดภัยหรือคาดว่าจะเกิด จะได้บริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้นายอำเภอทุกอำเภอเข้าใจแผนทั้ง 2 ฉบับ เพื่อม่ให้เกิดความสับสน วุ่นว่าย ในการสั่งการและปฏิบัติหน้าที่ คือ ทุกหน่วยงานได้รู้หน้าที่ตนเอง ในการบริหารจัดการตามแผน หรือ บัญชาการเหตุการณ์ อย่างมีความรู้ความเข้าใจ

3. “ท้องถิ่นต้องรู้” สิ่งที่ทำให้ท้องถิ่นต้องรู้ ก็คือ เมื่อมีการประชุม ให้ความรู้ หรือซักซ้อมแผน ผู้บริหารทุกท้องถิ่น จะต้องเข้าร่วมด้วยตนเองทุกครั้ง เพื่อให้เกิดความเข้าใจแผน การบัญชาการตามกฎหมาย และเมื่อเกิดภัยพิบัติ ผู้บริหารที่ได้มีความรู้แล้ว สามารถปฏิบัติได้ตามระเบียบ ขั้นตอน ในแผนป้องกันภัย และแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้นเมื่อเกิดภัยพิบัติ

4. ”ประชาชนต้องรู้” ประชาชนต้องรู้และเข้าใจแผน ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ยังคิดว่าการแก้ปัญหาภัยพิบัติเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ จึงไม่ค่อยให้ความสำคัญและไม่เข้าใจแผนป้องกันภัย ถ้าประชาชนไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่เห็นความสำคัญ ก็จะไม่สามารถปฏิบัติให้เกิดผลได้   จึงจำเป็นที่การขับเคลื่อนแผนสู่ภาคประชาชนเป็นสิ่งที่สำคัญ เช่น กระทรวงศึกษามีหน้าที่ทำแผนและหลักสูตรในโรงเรียน โดยทำเป็นหลักสูตรการจัดการภัยและการรับมือภัยให้นักเรียน นักศึกษา ในทุกระดับชั้น เป็นต้น 

การเสวนานี้ เป็นการบูรณาการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติร่วมกันทุกภาคส่วน เพราะภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจะรุนแรงขึ้น และหากเราไม่พร้อม เราก็จะเป็นประสบภัยพิบัติกันทุกคน เพราะเราทุกคนคือผู้เสี่ยงประสบภัยพิบัติทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นการเรียนรู้ วางแผน การเตรียมความพร้อม จะทำให้เราปลอดภัยเมื่อภัยมาและจะไม่กลายเป็นผู้ประสบภัยพิบัติ

---------------------------------------------